เส้นเลือดขอด เป็นโรคที่เกิดจากการมีเลือดดำคั่งอยู่ในเส้นเลือดดำจึงส่งผลให้เส้นเลือดดำขยายตัว โป่งพอง และขดไปมา ซึ่งโรคนี้สามารถเป็นได้ทุกส่วนของร่างกายเส้น เช่น เส้นเลือดดำที่ผนังหลอดอาหาร เส้นเลือดดำที่อวัยวะเพศหญิง เส้นเลือดดำที่ถุงอัณฑะ เส้นเลือดดำที่ทวารหนัก เป็นต้น แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือ เส้นเลือดดำที่ขาส่วนที่อยู่ตื้น ๆ ใต้ผิวหนัง จึงทำให้มองเห็นได้ชัดเจน ผู้หญิงตั้งครรภ์ คนอ้วน ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องยืนเกือบทั้งวัน หรือยกของหนัก เสี่ยงกับการเกิดโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป และจะพบเส้นเลือดขอดเป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยเป็นโรคของผู้ใหญ่และยิ่งอายุสูงขึ้นก็จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากขึ้น สามารถพบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย แต่จะพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 3 เท่า
เส้นเลือดขอดเกิดจากอะไร
เกิดจากความผิดปกติของลิ้นในเส้นเลือด ซึ่งมีหน้าที่กั้นเลือดทำให้ไม่สามารถกั้นการไหลย้อนกลับของเลือดได้ ส่งผลให้เลือดคั่งอยู่ในเส้นเลือดดำ นอกจากนี้อาจเกิดจากการยืนนาน ๆ การมีน้ำหนักเกิน และการใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน ทำให้มีอาการปวดเท้าหรือเท้าบวม และมักปวดมากขึ้น เมื่อยืนหรือนั่งนาน ๆ และอาจเป็นตะคริวในตอนกลางคืน ถ้าเป็นมาก ๆ อาจมีการอักเสบที่เส้นเลือดขอด และเส้นเลือดแตกได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเส้นเลือดขอด
- อายุยิ่งอายุมากขึ้นก็จะยิ่งมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงขึ้นเนื่องจากการเสื่อมสภาพของลิ้นในเส้นเลือดและเซลล์ผนังเส้นเลือด ซึ่งจะพบโรคนี้มากกว่า 70% ของคนที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป
- เพศผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้ชายประมาณ 3 เท่า เนื่องจากการตั้งครรภ์ที่ส่งผลถึงการเพิ่มความดันในช่องท้อง และจากการมีภาวะหมดประจำเดือนตามธรรมชาติ ซึ่งฮอร์โมนเพศจะมีส่วนช่วยในการคงความยืดหยุ่นของผนังเส้นเลือด
- พันธุกรรมและเชื้อชาติเพราะพบโรคนี้ได้สูงขึ้นประมาณ 2 เท่าในคนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ และพบได้สูงในคนตะวันตกสูงกว่าคนเอเชีย ทั้งนี้อาจมีความสัมพันธ์กับอาหารที่รับประทาน
- อาชีพอาชีพที่ต้องยืนหรือนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ หรือต้องยกของหนัก ๆ ทำให้เส้นเลือดมีเลือดคั่งมาก เช่น ทหาร ศัลยแพทย์ พยาบาลในห้องผ่าตัด ครู เป็นต้น
- คนอ้วนหรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน(สูงเกินค่ามาตรฐาน) เพราะโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกินจะเพิ่มความดันในช่องท้องให้สูงขึ้น
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเช่น ในวัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์ หญิงวัยทอง หรือแม้กระทั่งการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดก็อาจส่งผลทำให้เกิดเส้นเลือดขอดมากขึ้นได้
- หญิงตั้งครรภ์เนื่องจากการมีปริมาณของเลือดที่เพิ่มขึ้นทำให้เส้นเลือดขยายตัว น้ำหนักของครรภ์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ที่ส่งผลให้เกิดการเพิ่มความดันในช่องท้องและไปกดเส้นเลือด ท้องผูกเรื้อรัง เพราะต้องออกแรงเบ่งอุจจาระเป็นประจำจนส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของความดันในช่องท้องตลอดเวลา
- ผู้ที่ขาดการออกกำลังกายขาดการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือใช้ชีวิตที่สะดวกสบายเกินไป เพราะจะส่งผลทำให้กล้ามเนื้อขาเสื่อมประสิทธิภาพ ซึ่งกล้ามเนื้อขาเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการช่วยพยุงเส้นเลือดดำและช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดที่ขา
- การสัมผัสแสงเป็นเวลานาน ๆก็อาจทำให้เกิดเส้นเลือดฝอยที่ใบหน้าได้ด้วย
การรักษาเส้นเลือดขอด
การรักษาเส้นเลือดขอดมีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาอาการ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน เพื่อความสวยงาม และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเส้นเลือดขอดมากขึ้น ซึ่งการจะรักษาด้วยวิธีใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของเส้นเลือดขอด ดุลยพินิจของแพทย์ และความต้องการของผู้ป่วย
- การฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำที่ขอดเพื่อให้เส้นเลือดตีบตัน(Sclerotherapy) สามารถรักษาได้ทั้งเส้นเลือดขอดและเส้นเลือดฝอยที่ขา โดยจะเป็นการฉีดยา เข้าไปในเส้นเลือดดำที่ขอดเพื่อทำให้ผนังเส้นเลือดบวมและติดกันจนเลือดไม่สามารถไหลผ่านไปได้และเกิดการแข็งตัวจนตีบตันในที่สุด เพียง 2-3 สัปดาห์เส้นเลือดขอดที่โป่งพองก็จะยุบและจางหายไป โดยยาหรือสารเคมีที่แพทย์นำมาใช้ฉีดก็มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด แต่ชนิดที่ใช้บ่อย ๆ จะมีชื่อว่า “เอธอกซีสเครอล” (Aethoxysklerol inj) ซึ่งมีความเข้มข้นตั้งแต่ 1-3%
- เลเซอร์เหมาะสำหรับ แก้เส้นเลือดขอด ขนาดเล็ก และผู้ที่กลัวการผ่าตัดหรือกลัวการฉีด แสงเลเซอร์จะมีความยาวคลื่นจำเพาะผ่านผิวชั้นบนลงไปบริเวณที่เป็น เส้นเลือดขอด ได้อย่างแม่นยำ ทำให้เส้นเลือดร้อนจัดและถูกทำลายระหว่างการยิงเลเซอร์ โดยจะมีแก๊สเย็นออกมาพร้อมกับเลเซอร์ เพื่อให้ความเย็นแก่ผิวชั้นบน โดยไม่ทำลายผิวหนังบริเวณข้างเคียง จึงสามารถ รักษาเส้นเลือดขอด ได้อย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว ขณะทำคุณจะรู้สึกเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หลังการรักษาผิวหนังบริเวณนั้นอาจจะมีอาการบวมแดงเล็กน้อย และจะหายไปเองภายใน 2-3 วัน โดยไม่เกิดบาดแผลและไม่มีแผลเป็น เครื่องเลเซอร์ที่มีใช้อยู่ในบ้านเรา ได้แก่ เครื่อง Gentle YAG และเครื่อง Cooltouch Varia
- การฉีดสารเคมีเข้าสู่เส้นเลือดดำ (Sclerotherapy)เพื่อให้เส้นเลือดฝ่อและตีบ เหมาะสำหรับ การรักษาเส้นเลือดขอด ขนาดเล็กๆ 2-3 มิลลิเมตร หรือเส้นเลือดขอด ที่ยังคงเป็นอยู่หลังจากผ่าตัด เส้นเลือดขอด ปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคนิคการฉีด เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ที่เรียกว่า Microsclerotherapy โดยหลังการรักษาอาจมีข้อแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น แพ้สารที่ฉีด มีอาการบวมแดงหรือคันเล็กน้อย หรืออาจเกิดเส้นเลือดอุดตันได้ ซึ่งการรักษาประเภทนี้จะทำได้ไม่ยาก แต่ต้องตรงจุด ในระยะเวลาไม่นานก็ช่วยให้ทุเลาได้ ระหว่างการรักษาไม่จำเป็นต้องใช้ยาชาแต่อย่างใด
- การรักษาเส้นเลือดขอดโดยใช้คลื่นความถี่วิทยุ(Radiofrequency Ablation – RFA) เป็นวิธีการรักษาแบบใหม่ที่ใช้หลักการเดียวกับการรักษาด้วยเลเซอร์ และไม่ต้องทำการผ่าตัดเปิดแผล
- ยารับประทานบรรเทาอาการเส้นเลือดขอดเพราะมีการวิจัยออกมาว่า การรับประทานยาในกลุ่มไดออสมิน (Diosmin) และเฮสเพอริดิน (Hesperidin) จะทำหน้าที่ยับยั้งกระบวนการอักเสบให้ลดลงและทำให้ลิ้นในเส้นเลือดกลับมาเป็นปกติได้ โดยเฉพาะในเส้นเลือดขอดที่มีขนาดเล็ก ๆ ดังนั้น ถ้ารักษาตั้งแต่ระยะแรกยานี้ก็อาจช่วยรักษาให้หายได้ แต่ถ้ามารักษาตอนระยะที่เป็นเส้นเลือดขอดรุนแรงแล้วจะต้องมีการรักษาอื่น ๆ เสริมนอกจากการใช้ยาดังกล่าวที่จะให้เพื่อยับยั้งการเป็นมากขึ้นด้วย
- การผ่าตัดเอาเส้นเลือดขอดออก(Varicose vein stripping) เป็นวิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิมและยังคงเป็นการรักษามาตรฐานในผู้ป่วยเส้นเลือดขอด โดยจะเป็นการผ่าตัดดึงเอาเส้นเลือดที่ขอดออกไปตลอดทั้งเส้นเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีก