เส้นเลือดขอด (Varicose Veins) การยืน เดิน หรือนั่ง เป็นเวลานานจะส่งผลให้เลือดที่ร่างกายส่วนล่างไหลย้อนกลับไปที่หัวใจได้ยากขึ้น เป็นความผิดปกติของหลอดเลือดดำบริเวณใกล้ชั้นผิวหนังที่ขยายตัวบวมออกมา และมีเลือดมาสะสมมากจนเห็นเป็นเส้นเลือดสีฟ้าหรือม่วงเข้ม โดยเส้นเลือดขอดอาการมักจะเป็นที่ขาหรือเท้า
ปัญหาที่สาว ๆ ผู้มีขาเรียวยาวไม่อยากให้เกิดขึ้น นั่นคือการที่ขาสวย ๆ ของตัวเองเกิดอาการเส้นเลือดขอด ซึ่งผู้ที่มีปัญหาเส้นเลือดขอดจะสังเกตได้จากเส้นเลือดผ่านผิวหนัง โดยเห็นเป็นเส้นเลือดคดเคี้ยวและนูนออกมา หรือปรากฏเป็นสีม่วงเข้มหรือสีฟ้าบริเวณขา จากนั้นอาการเจ็บปวดหรืออาการอื่น ๆ จึงตามมา ได้แก่
อาการเส้นเลือดขอด
- มีอาการคันรอบ ๆ เส้นเลือดเส้นใดเส้นหนึ่งหรือหลายเส้น
- กล้ามเนื้อในขาส่วนล่างเป็นตะคริว หรือสั่นเป็นจังหวะ
- อาการเจ็บหรือรู้สึกหนักขา
- ขาส่วนล่างบวม และรู้สึกแสบร้อน
- รู้สึกเจ็บมากขึ้นเมื่อนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน
- มีเลือดออกจากเส้นเลือดที่บิดนูน
- มีอาการปวดในเส้นเลือดบริเวณที่ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดง
- เส้นเลือดแข็งหรือเปลี่ยนสี มีอาการอักเสบของผิวหนังหรือมีแผลพุพองที่ผิวหนังใกล้ข้อเท้า ซึ่งเป็นอาการรุนแรงของเส้นเลือดขอดที่ควรต้องได้รับการรักษา
- หากมีสภาพอากาศร้อนหรือยืนเป็นเวลานาน อาการของเส้นเลือดขอดมักแย่ลง และจะดีขึ้นเมื่อได้เดินหรือพักขาด้วยการยกขาขึ้น
เส้นเลือดขอดอาการส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นที่ขา โดยเกิดได้ทั้งบริเวณน่องหรือด้านในของขา แต่บางครั้งเส้นเลือดขอดก็อาจเกิดขึ้นได้ในส่วนอื่นของร่างกายเช่นกัน เช่น บริเวณหลอดอาหาร มดลูก ช่องคลอด เชิงกราน และช่องทวารหนัก
สาเหตุของเส้นเลือดขอด
- ด้วยอายุที่มากเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น หลอดเลือดก็เริ่มที่จะหลวมและหย่อนตัวลง เป็นเหตุให้ลิ้นหลอดเลือดทำงานได้ไม่ดีตามไปด้วย
- เพศหญิงเส้นเลือดขอดมีโอกาสเกิดขึ้นในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย อาจมีสาเหตุจากฮอร์โมนเพศหญิงที่ไปทำให้ผนังหลอดเลือดคลายตัวลง ส่งผลให้มีโอกาสเกิดการรั่วของลิ้นหลอดเลือด
- มีน้ำหนักมากน้ำหนักตัวจะทำให้เกิดแรงดันบนหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อส่งเลือดกลับไปเลี้ยงหัวใจ ส่งผลให้เกิดแรงดันที่ลิ้นหลอดเลือดสูงขึ้นและเสี่ยงต่อการรั่วของเลือดยิ่งขึ้น
- มีอาชีพที่ต้องยืนเป็นเวลานานจะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดขอด เพราะเลือดจะไหลได้ยากขึ้นเมื่อยืนเป็นเวลานาน
- หญิงตั้งครรภ์ในระหว่างตั้งครรภ์ ปริมาณของเลือดในร่างกายจะเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้เพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูก แต่จะนำไปสู่การตึงของหลอดเลือด
- การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในหญิงตั้งครรภ์ที่สูงขึ้นยังสามารถทำให้ผนังกล้ามเนื้อของหลอดเลือดคลายตัวจนลิ้นเปิดปิดเลือดทำงานบกพร่องได้เช่นกัน
- พันธุกรรมจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการเกิดเส้นเลือดขอด หากในครอบครัวมีบุคคลที่เป็นเส้นเลือดขอดจะยิ่งเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคนี้
เมื่อเส้นเลือดขอดมีอาการที่หนักขึ้น ท่านจะต้องรีบเข้าพบแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษาและหาทางรักษา โดยเมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการวินิจฉัย ดังนี้
การวินิจฉัยเส้นเลือดขอด
- แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย โดยตรวจดูขาของผู้เข้ารับการรักษาในขณะยืน เพื่อสังเกตอาการบวม หลังจากนั้นจะทำการสอบถามว่ามีอาการเจ็บใด ๆ ที่ขาหรือไม่
- แพทย์อาจจะใช้วิธีการทำ ultrasound โดยใช้หัวตรวจเคลื่อนไปบนบริเวณดังกล่าวเพื่อดูลักษณะการไหลของเลือดในเส้นเลือด รวมทั้งหาร่องรอยการสะสมของลิ่มเลือดที่อาจเป็นสาเหตุของการบวมและเจ็บดังกล่าว
- แพทย์อาจจะใช้วิธีการตรวจเอกซเรย์หลอดเลือด (Angiogram) แล้วนำมาประเมินอาการเส้นเลือดขอดให้แน่ชัดยิ่งขึ้น โดยจะฉีดสารทึบรังสีชนิดพิเศษเข้าไปในขาและเอกซเรย์ดูบริเวณดังกล่าว ภาพเอกซเรย์ที่แพทย์มองเห็นจะเป็นการไหลเวียนของเลือดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ในการตรวจด้วยการใช้วิธี ultrasound และ X-Ray จะเป็นการตราจเพื่อช่วยยืนยันว่าอาการเจ็บและบวมที่เกิดขึ้นที่ขาเป็นอาการจากเส้นเลือดขอด ไม่ได้เกิดจากลิ่มเลือดหรือสิ่งอุดตันใด ๆ
วิธีรักษาเส้นเลือดขอด
- การรักษาเส้นเลือดขอดแบบไม่ผ่าตัด
ในกรณีที่เป็นไม่มากแพทย์จะแนะนำให้ใช้ครีมนวดรักษาหรือเบาเทาอาการได้ แต่ในกรณีที่มีอาการปวดแพทย์จะแนะนำให้ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำที่ขอด เพื่อสลายหลอดเลือดที่แข็งตัวและตีบตันให้ไหลเวียนไปสู่หลอดเลือดอื่นบริเวณรอบ ๆ วิธีนี้ไม่ใช่วิธีที่รักษาให้หายขาดได้ภายในครั้งเดียวอาจต้องฉีดซ้ำหลายครั้งในกรณีที่เป็นมาก และไม่อาจรับประกันได้ว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก
โดยหลังการรักษาจำเป็นต้องสวมผ้ารัดหรือถุงน่องเพื่อบีบให้ผนังหลอดเลือดกระชับ จนกว่าบริเวณที่ฉีดยาจะบวมน้อยลง และเวลานอนพักต้องใช้หมอนหนุนยกระดับเข่าให้สูงกว่าสะโพก และปลายเท้าสูงกว่าระดับเข่า
- การรักษาเส้นเลือดขอดแบบผ่าตัด
ในกรณีที่เส้นเลือดขอดเกิดภาวะอุดตันภายในหลอดเลือด แพทย์จะใช้วิธีการรักษาแบบผ่าตัด และอาจส่งผลอันตรายต่ออวัยวะอื่น ๆ โดยแพทย์จะให้ยาชาก่อนการผ่าตัดและใช้เครื่องมือเข้าไปผูกเส้นเลือดที่ขอดแล้วดึงหลอดเลือดดำที่ขอดออกเป็นบางส่วน หรือการผ่าดึงหลอดเลือดดำที่ขอดทั้งเส้น
โดยหลังการผ่าตัดจะมีอาการเท้าบวม มีเลือดออกหรือเจ็บแผล และจำเป็นต้องใส่ผ้ารัดหรือถุงน่องพยุงต่อประมาณ 6 ถึง 8 สัปดาห์
บทสรุป
สาว ๆ ที่มีขาเรียวสวย และเกิดมีอาการของเส้นเลือดขอดเกิดขึ้น คงต้องหาวิธีป้องกันและรักษาซึ่งท่านสามารถเข้ารับคำปรึกษาได้จากคลินิกที่มีแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญและชำนาญในด้านการรักษาของเส้นเลือดขอดอาการที่อาจจะเป็นหนักหรือเบาได้ โดยจะต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนเข้ารับการรักษา